มิตต ทรัพย์ผุด
ประวัติศาสตร์
Napoleon III receiving the Siamese embassy at the palace of Fontainebleau in 1864 |
นี่คือสาเหตุหนึ่งที่มนุษย์ในทุกวัฒนธรรมได้พัฒนาแนวทางการสร้างความรู้ที่เกี่ยวกับ “มิติอดีต” ทั้งที่เป็นอดีตที่ห่างไกลจากปัจจุบันและอดีตที่เกิดขึ้นฉับพลันเพิ่งผ่านไปหรืออดีตที่เรามีประสบการณ์ร่วม ในวัฒนธรรมไทยเราเรียกศาสตร์สาขานี้ว่า “ประวัติศาสตร์”ทุกคนอาจจะไม่ได้สังเกตว่า “มิติอดีต” (The Past) อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกเวลาและสถานที่ บางครั้งเราก็รู้ตัว บางครั้งเราก็คิดไม่ถึง “มิติอดีต”ที่ว่านี้ มีให้เห็นอยู่ในตัวของเราเอง มีอยู่ในสิ่งของ มีอยู่ในการกระทำ มีอยู่ในเหตุการณ์ มีอยู่ในความสัมพันธ์ มีอยู่ในปรากฏการณ์ทางสังคม มีอยู่ในในข่าวโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ มีอยู่ในภาพยนตร์ที่พวกเราชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งในรอยไถคราดดินของเกษตรกรนับรุ่นอายุไม่ถ้วน แต่ร่องรอยแห่งอดีตนี้จำเป็นที่จะต้องมีผู้ทำหน้าที่ให้คำอธิบายอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล เพราะว่าบ่อยครั้ง สิ่งที่เราสัมผัสได้หรือข้อมูลที่เราได้รับรู้อยู่ตรงหน้า(Reality)ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง(Truth) เสมอไป หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ร่องรอยของกิจกรรมมนุษย์ทุกรูปแบบที่ยังคงหลงเหลือปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนั้นต้องการคำอธิบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำอธิบายในมิติอดีตที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง
หากถามว่า ถ้า “มิติอดีต” มีอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกเวลาและสถานที่แล้ว ดังนั้นพวกเราทุกคนก็สามารถเป็น “นักประวัติศาสตร์” ได้ใช่หรือไม่ คำตอบเดียวก็คือ ถูกต้อง
เราอาจจะถามต่อไปว่า ถ้าทุกคนเป็นนักประวัติศาสตร์ได้ นั่นก็เท่ากับว่า “ความเป็นนักประวัติศาสตร์” มีอยู่ในสำนึกของทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนประวัติศาสตร์ก็ได้ใช่หรือไม่ คำตอบที่ได้ก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เปรียบเหมือนการที่คนไทยสามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้ ดังนั้นคนไทยทุกคนสามารถเป็นครูสอนภาษาไทยให้กับคนไทยและชาวต่างชาติได้ใช่หรือไม่ ถ้าเรามองโลกในแง่ดีที่สุด คำตอบที่ได้ก็คือ คนไทยทุกคน(แน่นอนว่ารวมถึงชาวต่างชาติด้วย) มีศักยภาพในการเป็นครูสอนภาษาไทยได้ถ้าได้รับการฝึกฝน เช่นเดียวกันวิชาประวัติศาสตร์ที่ประกอบด้วยตัวเนื้อหาของความรู้และแนวทางการสร้างความรู้นั้น ถ้าได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นลำดับขั้นตอนก็จะสามารถทำให้ผู้ที่ปรารถนาเป็นนักประวัติศาสตร์ประสบความสำเร็จใน “การเขียนประวัติศาสตร์”อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบัน การเรียนการสอนประวัติศาสตร์มีอยู่ในทุกสังคม ทุกประเทศ ในทวีปยุโรป การเรียนประวัติศาสตร์เป็นที่นิยมมากของเยาวชนและในเวลาเดียวกันชาวยุโรปโดยทั่วไปก็สนใจประวัติศาสตร์ทุกรูปแบบ สังเกตได้จากหนังสือประวัติศาสตร์ที่วางแผงในท้องตลาดเพิ่มชื่อเรื่องมากขึ้นทุกปี ตัวอย่างเช่น ตลอดช่วงเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแอ็กซ์-มารฺแซยที่ 1(Université d’Aix-Marseille I) ของฝรั่งเศสมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์ในชั้นปีที่ 1 จำนวนเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 600 คน ในขณะที่มหาวิทยาลัยฮัล(University of Hull ) ของอังกฤษมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ในทุกชั้นปี และทุกระดับการศึกษารวมกันจำนวนมากกว่า 3000 คนในปีการศึกษา พ.ศ.2552
อย่างไรก็ตาม กระแสการแข่งขันทางเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันได้ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ พยายามหาแนวทางในการขยายมูลค่าทางเศรษฐกิจของตนเองควบคู่กับการส่งเสริมทางด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม แนวทางหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้กันมากและเคยใช้มาแล้วตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็คือ การใช้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติตนเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความเจริญแพร่หลายของวัฒนธรรมเกาหลีในประเทศไทยขณะนี้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ประเทศไทยกลายเป็นตลาดภาพยนตร์ เพลง อาหาร และกำลังรวมไปถึงตลาดแฟชั่นที่สำคัญของประเทศเกาหลี แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงแต่ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เท่านั้น แต่ขณะนี้ประเทศเกาหลีเองก็ดำเนินนโยบายการแพร่ขยายทางวัฒนธรรมเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย เยาวชนที่สนใจเรียนวิชาเอกสาขาประวัติศาสตร์ยังเป็นกลุ่มเล็กๆ ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า กระแสสังคมไทยต้องการให้เรียนในสาขาที่สามารถประกอบอาชีพได้ทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา หรือต้องการศึกษาในสาขาวิชาชีพชัดเจนโดยตรง เช่น วิศกร แพทย์ นักการปกครอง นักหนังสือพิมพ์ มัคคุเทศก์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานบัญชี เป็นต้น
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มขยับนโยบายทางด้านนี้ช้าเกินไป แต่การที่รัฐบาลไทยประกาศเจตนารมณ์ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์(creative economy)จะทำให้ทุกหน่วยงานและองกรค์ภายในประเทศหันกลับมาให้ความสำคัญกับสาขาวิชาทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์หรือนักเรียนประวัติศาสตร์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษสำหรับนโยบายทางด้านนี้ของรัฐ ยกเว้นนักเรียนประวัติศาสตร์ที่ต้องการเข้าสู่อาชีพที่ต้องใช้วิชาประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐาน เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ สารคดีประวัติศาสตร์ นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ นักเขียน ฯลฯ
การเรียนประวัติศาสตร์ในโลกปัจจุบัน: ทำไม
ทำไมการเรียนประวัติศาสตร์จึงเป็นที่นิยมกันมาก ทั้งนี้ก็เพราะความรู้ประวัติศาสตร์จะทำให้เรารู้จักตนเอง รู้จักสังคมของเรา รู้จักประเทศของเรา และรู้จักโลกของเรา อาจกล่าวโดยสรุปว่า การเรียนประวัติศาสตร์ทำให้ “รู้เขา” และ “รู้เรา” เพี่อการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข การรู้จักตนเองและเข้าใจผู้อื่น หมายถึง รู้จักขอบเขตความสามารถของตนเอง เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของตนเองเพื่อการพัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ
Looting of the Yuan Ming Yuan by Anglo-French forces in the Second Opium War in 1860. |
การรู้จัก “ผู้อื่น” การได้เห็นพัฒนาการในมิติต่างๆที่ทำให้“เขา”เปลี่ยนแปลงมาอยู่ในรูปลักษณะปัจจุบัน เข้าใจความแตกต่างและความเหมือนระหว่าง “เขา” กับ “เรา” และนำไปสู่การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับฟังในสิ่งที่แตกต่าง และอยู่ร่วมในสังคมโลกบนพื้นฐานแห่งกฎหมายและคุณค่าร่วม (common values)
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน เราอาจกล่าวได้ว่าในช่วงของการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น นักเรียนประวัติศาสตร์จะมีโอกาสพัฒนาทักษะดังต่อไปนี้ให้เข้มแข็งและใช้ได้จริงจากคำกล่าวของภาควิชาประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ โรงเรียนเศรษฐศาสตร์และการเมืองแห่งกรุงลอนดอน (London School of Economics and Political Science – LSE) “ลักษณะอุดมคติของผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์สามารถให้คำจำกัดความได้ว่าเป็นบุคคลที่สามารถปรับตัวได้(adaptive) มีความรับผิดชอบ(responsible) มีความคิดไตร่ตรองต่อสิ่งรอบตัว(reflective) มากเท่ากับการเป็นผู้มีทักษะระดับสูงในการวิเคราะห์และการแก้ปัญหา” นี่เป็นลักษณะโดยทั่วไปของนักประวัติศาสตร์
- ทักษะการคิดอย่างมีเหตุมีผล
- ทักษะการสื่อสารทั้งการพูดและการเขียน
- ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
- ทักษะการเรียนรู้ที่จะเรียนสิ่งใหม่ตลอดเวลา การพัฒนาตนเองตลอดเวลา การทำงานร่วมกับผู้อื่น
- ทักษะการคำนวณเบื้องต้น
- ทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ
เรียนประวัติศาสตร์ประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
แนวทางการประกอบอาชีพของผู้ที่สำเร็จการศึกษาสาขาประวัติศาสตร์มีมากมายและกว้างขวางขึ้นกับความสนใจ ความถนัด และทัศนคติของผู้นั้น เนื่องจาก วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานวิชาหนึ่งทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถเลือกที่จะไปประกอบอาชีพใดก็ได้ที่ต้องการ เพียงแต่ในบางสาขาอาชีพต้องศึกษาอบรมเพิ่มเติม เช่น อาชีพทางด้านสื่อสารมวลชน (นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการวารสาร ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ผู้ผลิตสารคดีประวัติศาสตร์ ฯลฯ) อาชีพด้านกฎหมาย อาชีพอิสระ (นักเขียน นักวิจัย เจ้าของสำนักพิมพ์ ฯลฯ)
สำหรับผู้ต้องการจะทำงานทางด้านวิชาการประวัติศาสตร์ ก็ยังมีอาชีพอีกมากมายรองรับ เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัยประจำสถาบันต่างๆ นักจดหมายเหตุ นักโบราณคดี ภัณฑารักษ์ นักวิชาการประจำหน่วยงานต่างๆของกระทรวงการต่างประเทศ หรือองกรค์ระหว่างประเทศ ฯลฯ
ที่สำคัญที่สุด ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาพื้นฐานทั้งหลายย่อมได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานในการประกอบสัมมาชีพทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักประวัติศาสตร์จะพัฒนาทักษะการคิดและการสื่อสารอย่างเข้มข้น ด้วยเหตุนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์จึงพร้อมที่จะปรับตัวและเลือกประกอบอาชีพที่ตนปรารถนาได้ หรือหากผู้ใดไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเป็นชิ้นเป็นอัน เขาผู้นั้นก็จะเป็นพลเมืองของประเทศและโลกที่มีความสามารถและมีคุณภาพ
ชอบสีเว็บมากครับ สบายตาดีกว่าแต่ก่อนเยอะเลยนะครับ ^^
ตอบลบ