14/12/56

ชนชั้นกลางในอังกฤษ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

ธนพนธ์ รงรอง

ภาพครอบครัวชนชั้นกลางในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ที่มา: http://passionforthepast.blogspot.com/2008/09/meet-ancestors-of-victorian-england.html)

        ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 เมื่อมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเมืองขึ้น สังคมยุโรปเริ่มมีชนชั้นใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นกระฎุมพี เป็นชนชั้นที่มีรายได้จากการทำการค้า ธุรกิจส่วนตัว รับจ้าง และเป็นอาจารย์-นักศึกษา เป็นต้น มิได้มีรายได้จากการทำการเกษตรหรือถือที่ดินจำนวนมากเหมือนพวกขุนนางหรือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งชนชั้นกลางเป็นผู้ร่วมวางรากฐานความเจริญให้แก่สังคมยุโรปและปลูกฝังอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน ทั้งชนชั้นกลางยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและการส่งเสริมขยายการศึกษา ก่อให้เกิดมหาวิทยาลัยและการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) และความเจริญอื่นๆ ตลอดจนพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา จนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษ ชนชั้นกลางกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อย่างไม่เคยมีมาก่อน และในกรณีของประเทศอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชนชั้นกลางแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างคือ “ผู้ให้บริการ” แก่ชนชั้นขุนนางและชนชั้นกลางระดับสูง ได้แก่ บรรดาช่างฝีมือ นายทุนรายย่อย เจ้าของร้านค้า เป็นต้น, และกลุ่มชนชั้นกลางระดับสูง มักเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและมีวิถีชีวิตเช่นเดียวกับขุนนาง ต่างกันในเรื่องชาติตระกูล กล่าวคือชนชั้นขุนนางสืบเชื้อสายและมั่งคั่งกันมาเป็นเวลานาน ส่วนชนชั้นกลางระดับสูง คือ เศรษฐีใหม่หรือพวกผู้ดีใหม่ มักเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางทั่วไป ซึ่งชนชั้นกลางมีบทบาทสำคัญ ในด้านต่างๆของสังคม ได้แก่

ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ
        เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และขยายตัวไปทั่วยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชนชั้นกลางเป็นส่วนสำคัญของยุโรปพัฒนาด้านต่างๆทั้งในแง่การอุตสาหกรรม อย่างการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค การผลิตสินค้าแบบเก่าและแบบใหม่ที่ได้จากอุตสาหกรรม โดยมีกลุ่มชนชั้นกลางเป็นผู้ลงทุนและทำการค้าขายส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนชนชั้นกลางยังมีส่วนในการทำหน้าที่ควบคุมการเงินของประเทศร่วมกับขุนนางอีกด้วย ซึ่งมีนิทรรศการครั้งใหญ่ (Great Exhibition) ที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอนใน ค.ศ.1851 ก็แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของชนชั้นกลางระดับสูงในเชิงเศรษฐกิจด้านกิจกรรมอุตสาหกรรมและการผลิตเป็นอย่างดี
ด้านหน้าของนิทรรศการครั้งใหญ่ (Great Exhibition) ที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอน ค.ศ.1851 (ที่มา: http://history1800s.about.com/od/emergenceofindustry/ss/Great-Exhibition-1851.htm)

ด้านการสร้างค่านิยมและคุณธรรม
        ชนชั้นกลางชาวอังกฤษได้ยึดถือการมีระเบียบวินัย ความประหยัด การมีวิริยะอุตสาหะความมุ่งมั่น ความสง่างาม ความมีเมตตา การหลีกเลี่ยงกิเลสตัณหาต่างๆ รวมทั้งการไม่คบหากับ “คนไม่ดี” “คนดี” ควรมีลักษณะใสสะอาดจากภายใน และรูปแบบชองการเข้าสังคม กิริยามารยาทและรสนิยมตลอดจนค่านิยมที่ให้ครอบครัวใหม่ตามรอยพระจริยวัตรของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน แต่ก็มีชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือแก้ผู้ด้อยโอกาสกว่า แต่ในเวลาต่อมาไม่นานนัก พวกเขาเริ่มสำนึกได้ที่จะปฏิรูปสังคมและให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าได้มีโอกาสแบ่งปันผลประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมีนวนิยายของชาลส์ ดิกเกนส์ สนับสนุนความสำนึกของชนชั้นกลางดังกล่าว เช่น Oliver Twist, Hard Times และ A Christmas Carol เป็นต้น จากนวนิยายดังกล่าว มีส่วนทำให้การฉลองวันคริสต์มาสของชนชั้นกลางกับครอบครัวที่บ้านเป็นกิจกรรมที่ทุกคนนิยมสร้างจิตวิญญาณของเทศกาลคริสต์มาสให้แก่คริสต์ศาสนิกชน และนวนิยายเหล่านี้ยังสร้างวัฒนธรรมการอ่านหนังสือให้กับชนชั้นกลางและถูกเผยแพร่ไปสู่ชนชั้นอื่นๆด้วย ทำให้วัฒนธรรมการอ่านและการเขียนแพร่หลาย การได้รับรู้เนื้อหาในนวนิยายแนวสัจนิยมและการถ่ายทอดก็ช่วยขยายการรับรู้และสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้อ่านและผู้ฟังที่อยู่ในหรือนอกวงสังคมของตนและที่มีฐานะต่ำกว่า
A Christmas Carol นวนิยายที่สร้างจิตสำนึกและคุณธรรมให้แก่ชนชั้นกลาง โดยเฉพาะในด้านความมีเมตตาและการมีน้ำใจต่อผู้อื่น (ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/A_Christmas_Carol)

ด้านการเพิ่มจำนวนประชากร
        ในการผลิตและพัฒนาด้านต่างๆของชนชั้นกลางนั้น ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ตลอดจนการสาธารณสุขและสุขอนามัย ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในอังกฤษมีอัตราประชากร 9 ล้านคนใน ค.ศ.1800 เป็น 32.5 ล้านคนใน ค.ศ.1900 ก่อให้เกิดจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนชนชั้นกลางในอังกฤษในสมัยวิกตอเรีย (ค.ศ.1837 – ค.ศ.1901) มีบทบาทในหลายๆด้านในสังคมอังกฤษ

ด้านการขยายตัวของสังคมเมือง
        เมื่อประชากรรวมถึงชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรม กิจการ การค้า และบริการต่างๆภายในเมืองเติบโตขึ้น ส่งผลให้ชนบทโดยรอบเมืองรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมือง โดยมีการรื้อกำแพงเมืองเก่าลงและสร้างสวนสาธารณะหรือถนนขึ้นแทน ทำให้เมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นชุมชนเปิดที่เชื่อมโยงกับเขตชานเมือง เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มของชุมชนเมือง

ด้านการเมือง การปกครอง
        ชนชั้นกลางระดับสูงได้เข้าไปมีส่วนผูกขาดอำนาจในการเมือง การปกครองร่วมกับกลุ่มขุนนางในการออกพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาครั้งใหญ่ฉบับที่ 2 รวมถึงการควบคุมการศึกษาและการเงิน ชนชั้นกลางที่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนในสภาสามัญ ได้ผลักดันให้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาครั้งใหญ่ได้สำเร็จ ทำให้มีการลดข้อจำกัดของจำนวนทรัพย์สินของผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง ปรับปรุงการเลือกตั้งและจำนวนของผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้งต่างๆ ทำให้ชนชั้นกลางทั่วไปมีบทบาทในรัฐสภามากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการออกพระราชบัญญัติการปฏิรูปโรงงานอีกหลายฉบับ เพื่อแก้ปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมและการตักตวงผลประโยชน์จากผู้ใช้แรงงานตลอดจนการช่วยให้แรงงานโดยเฉพาะเด็กและสตรีไม่ถูกเอาเปรียบและมีสภาพความเป็นอยู่และการทำงานที่ดีขึ้น อีกทั้งชนชั้นกลางยังเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้อังกฤษยกเลิกการค้าทาสและประสบความสำเร็จเมื่อรัฐสภาอังกฤษได้ประกาศกฎหมายห้ามค้าทาสในจักรวรรดิอังกฤษอย่างสิ้นเชิงใน ค.ศ.1838 และได้มีการออกพระราชบัญญัติประศึกษา ใน ค.ศ.1870 ให้เด็กทุกคนรวมทั้งผู้หญิงต้องไปโรงเรียน ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่สำคัญต่อสิทธิของสตรีอีกด้วย

ด้านการศึกษา
        อาชีพครู อาจารย์ รวมถึงกลุ่มนักศึกษา เป็นต้น เหล่านี้ ส่วนใหญ่คือชนชั้นกลางที่มีหน้าที่ในการสอนและเรียนรู้ ทำให้มีจำนวนนักศึกษามากขึ้น มีปัญญาชนในสังคมมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ ผลิต คิดค้นสิ่งใหม่ๆในการสร้างความเจริญ การอำนวยความสะดวก และการพัฒนาให้กับสังคม และใน ค.ศ.1870 ได้มีการออกพระราชบัญญัติประศึกษา ให้เด็กทุกคนรวมทั้งผู้หญิงต้องไปโรงเรียน

ด้านทัศนคติเรื่องเพศ และปัญหาของสังคม
        เรื่อง เพศ เป็นสิ่งต้องห้าม สำหรับชนชั้นกลาง ที่แม้แต่สามี ภรรยาจะพูดจากันได้ ความรักระหว่างสามี ภรรยาต้องเป็นเพียงความใสสะอาดจากภายในเท่านั้น โดยไม่มุ่งความรักทางเพศซึ่งถือว่ามีสิ่งสกปรกเจือปน เช่น ในฝรั่งเศสกฎหมายจะไม่เอาผิดสามีที่สังหารภรรยาที่ถูกจับได้ว่าคบชู้ เป็นต้น แต่สำหรับผู้ชายทัศนคติเรื่องเพศกลายเป็นเรื่อง เสแสร้งทางเพศ ผู้ชายชนชั้นกลางไม่อาจอดกลั้นความต้องการทางเพสได้หรือขาดความสุขทางเพศกับภรรยา จึงมักดำเนินชีวิต โดยใช้บริการโสเภณี ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจเติบโตและชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น จำนวนโสเภณีตามเมืองใหญ่ๆก็มีมากขึ้นอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย โดยเฉพาะมีจำนวนทารกนอกสมรสที่เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว ทั้งกลายเป็นเด็กกำพร้าบ้าง ประมาณได้ว่า ค.ศ.1851 อังกฤษมีทารกนอกสมรสจำนวนกว่า 42,000 คน เกิดจากสตรีโสดจำนวน 1 ใน 12 คน การเสแสร้งทางเพศ มักเกิดขึ้นกับผู้ชายชนชั้นกลางระดับสูง ส่วนสตรีหรือภรรยายังสามารถปฏิบัติตามธรรมเนียมหรือทัศนคติทางเพศได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 1880 จิตแพทย์พบว่าทัศนคติทางเพศกลับสร้างความกดดันทางอารมณ์ให้กับสตรีชนชั้นกลางระดับสูง ได้แก่โรคประสาทหลอนและการแสดงอารมณ์อย่างรุนแรง กลุ่มจิตแพทย์จึงให้คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ให้มีการยอมรับในเรื่องพฤติกรรมทางเพศและการสร้างทัศนคติทางเพศในชีวิตสมรสขึ้นใหม่ที่ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติมากขึ้น

ด้านบทบาทของสตรี
        สตรี รวมถึงสตรีชนชั้นกลาง กฎหมายอังกฤษในครึ่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 ห้ามผู้หญิงที่แต่งงานครอบครองทรัพย์สินใดๆ แม้แต่ทรัพย์สินของตนเองที่หามาได้อีกด้วย และให้แก่สามีเป็นผู้ดูแล สตรีจะไปไหนคนเดียวเป็นสิ่งไม่ควร จำเป็นต้องมีสามีอยู่เคียงข้าง ภรรยาไม่สามารถดำเนินการฟ้องอย่าหรือขอสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร สตรีไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง วิชาแขนงต่างๆและการศึกษาถูกสงวนให้เป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น ดังนั้น ผู้หญิงจึงถูกมองข้ามในเรื่องความสามารถและสติปัญญา และถูกจำกัดบทบาทชีวิตให้อยู่แต่เพียงในบ้านซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของ “การมีชีวิตอย่างมีอารยะ” เท่านั้น แต่ใน ค.ศ.1869 จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) นักปรัชญาแนวเสรีนิยมและเป็นพวกประโยชน์นิยม ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Subjection of Women เรียกร้องให้ปลดแอกสตรีจากค่านิยมที่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของสตรี เพื่อให้เห็นคุณค่าของผู้หญิงว่าที่จริงก็ไม่ได้ต่ำต้อยไปกว่าผู้ชาย ทั้งยังตั้งคำถามว่า “ทำไมอิสตรีถึงปกครองอังกฤษได้ แต่พวกเธอกลับนั่งสภาไม่ได้” มีขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีให้การสนับสนุน และในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการรวมของตัวสตรีในชื่อ “Suffrage” ที่ทำการประท้วงในรูปแบบต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรีเท่ากับบุรุษ แต่ไม่สำเร็จจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่บทบาทของสตรีในครั้งนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคในสังคมและการเมืองซึ่งเป็นอุดมการณ์ของชนชั้นกลาง และทำให้ปัญหาสถานภาพของสตรีเป็นที่รับรู้และมีผู้สนใจกันมากขึ้นในสังคม และใน ค.ศ.1870 เด็กทุกคนรวมถึงเด็กผู้หญิงมีสิทธิในการได้รับการศึกษาจนจบมหาวิทยาลัย

สรุป
        จะเห็นได้ว่า ชนชั้นกลาง โดยเฉพาะชนชั้นกลางระดับสูงในอังกฤษนั้น มีบทบาทที่สำคัญมาก ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในสมัยพระราชินีนาถวิตอเรียประเทศอังกฤษเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยที่มีชนชั้นกลางระดับสูงที่เปรียบได้ว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางระดับทั้งหมดในการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ชนชั้นกลางได้ส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยผลิตสินค้าผ่านระบบอุตสาหกรรมและทำการค้าขายในจำนวนที่มากขึ้นของสินค้าที่ผลิตจากโรงงาน ค่านิยมและคุณธรรมของชนชั้นกลางว่าด้วยการมีระเบียบวินัย ความประหยัด การมีวิริยะอุตสาหะความมุ่งมั่น ความสง่างาม ความมีเมตตา การหลีกเลี่ยงกิเลสตัณหาต่างๆ รวมทั้งการไม่คบหากับ “คนไม่ดี” “คนดี” ควรมีลักษณะใสสะอาดจากภายใน อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมการอ่านที่ส่งเสริมการเขียน สร้างความรู้ใหม่ๆให้กับชนชั้นกลาง ที่เผยแพร่ไปสู่ชนชั้นอื่นๆได้ ดังนั้น วิถีชีวิตแบบชนชั้นกลางกลายเป็นมาตรฐานสำหรับการเป็นผู้ดีของเศรษฐีใหม่และเป็นวิถีชีวิตแม่แบบของวัฒนธรรมเมือง การพัฒนาไปสู่สังคมเมืองที่ใหญ่ขึ้นก็เนื่องด้วยเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นและประชากรที่มีมากขึ้นโดยเฉพาะชนชั้นกลางซึ่งวิทยาศาสตร์และการแพทย์ทำให้ประชากรเสียชีวิตน้อยลง อีกทั้งกลุ่มชนชั้นกลางได้มีส่วนในรัฐสภาร่วมกับกลุ่มขุนนาง ในการออกกฎหมายต่างๆ ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเสมอภาค แต่ทัศนคติเรื่องเพศของกลุ่มชนชั้นกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นกลับสร้างปัญหามากมายให้กับสังคม โดยเฉพาะการมีลูกนอกสมรสที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมอย่างน่าตกใจ ขณะเดียวกันก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของสตรีชาวอังกฤษที่ถูกกำหนดให้มีบทบาทเป็นภรรยา มารดาและผู้ดูแลบ้านเท่านั้น ได้พยายามทำลายการกำหนดบทบาทอันจำกัดพวกเธอลงได้บางส่วน และแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิ ความเสมอภาค ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของกลุ่มชนชั้นกลาง

บรรณานุกรม
  • อนันต์ชัย เลาะห์พันธุ. เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2550.
  • สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาะห์พันธุ. ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2554.
  • สัญชัย สุวังบุตร และอนันต์ชัย เลาะห์พันธุ. ประวัติศาสตร์สากล ม.๔-ม.๖. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์, 2552.
  • Passion for the Past. “Meet My Ancestors of Victorian England - A Guide to Putting Flesh on the Bones of YOUR Ancestors”. ค้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556. เว็บไซต์: http://passionforthepast.blogspot.com/2008/09/meet-ancestors-of-victorian-england.html.
  • Wikipedia. “Middle class”. ค้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556. เว็บไซต์: https://en.wikipedia.org/wiki/Middle_class.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น