ที่มาบทความ: https://creative-path.wixsite.com/creativepath/single-post/HowToTrainYourDragonHappyEnding
นับเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่ภาพยนตร์แอนิเมชันอย่าง How To Train Your Dragon เข้าฉายในปี 2010 ด้วยเรื่องราวความกล้าหาญและการค้นหาตัวเองด้วยพรแสวงของเด็กชายชาวไวกิ้งตัวเล็กๆ นามว่า ‘ฮิคคัพ’ กับมังกรคู่ใจ พร้อมกับตอนจบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกดีๆ
และในปี 2019 นี้เอง How To Train Your Dragon: The Hidden World จากค่าย DreamWorks Animation นำฮิคคัพ กับมังกรคู่ใจ กลับมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์อีกครั้ง มาพร้อมกับฉากที่ตระการตา และเรื่องราวที่สนุกสนานและแสนจะประทับใจ แต่งแต้มตำนานชาวไวกิ้งได้อย่างมีสีสันและปิดท้ายเรื่องได้อย่างงดงามและสมศักดิ์ศรีแบบหนังไตรภาค
การรังสรรค์ในจินตนาการและการสร้างภาพยนตร์
สำหรับไวกิ้งในจินตนาการ How To Train Your Dragon รังสรรค์ความสวยงามทางด้านงานศิลป์และแสงในวัฒนธรรมของชาวไวกิ้งออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ และแม้บางครั้งมันจะไม่ใช่แนวที่ผู้เขียนชอบนัก How To Train Your Dragon เต็มไปด้วยสีสันตามแบบฉบับความเป็นการ์ตูน ผสมผสานกับความสมจริงของฉากอย่างลงตัว พูดได้ว่า คงไว้ซึ่งความเป็นการ์ตูนและความสมจริงในขณะเดียวกัน
ทีมผู้สร้างได้รังสรรค์งานศิลป์ต่างๆ ตามแบบไวกิ้งออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้าง บ้านเรือน อาวุธ ตลอดจนยานพาหนะอย่างเรือไวกิ้ง อันขึ้นชื่อ ไปจนถึงมังกรที่มาหลายหลาก นอกจากนี้ เพื่อการเคลื่อนไหวที่สมจริงอย่างการบินของมังกร ทีมผู้สร้างถึงกลับต้องไปเรียนการบินจริงเพื่อทำความเข้าใจกับกฎฟิสิกส์การบิน ทิศทางลม และอื่นๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ตัวละครแอนิเมชันแต่ละตัวในเรื่องมีชีวิตชีวาและสื่ออารมณ์ได้ชัดเจน ทั้งจากการสร้างงานแอนิเมชันและการพากย์เสียง รวมถึงฉากและดนตรีประกอบ อีกทั้งในเรื่องบทบาทตัวละคร บรรดาตัวละครสมทบก็มีพัฒนาการและบทบาทที่มากขึ้นกว่าการสร้างสีสันแบบแค่ปรากฎอยู่ในฉากต่างๆ แต่ยังมีบทบาทสำคัญที่ไม่ได้ทำให้ตัวเอกกลายเป็นวีรบุรุษแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งก็ถือเป็นคุณงามความดีของบทหนังที่เฉลี่ยบทให้ตัวละครทุกตัวได้มีโอกาสสร้างความประทับใจคนดูได้เป็นอย่างดี
การปิดฉากตำนานของเหล่ามังกร
ในหลายวัฒนธรรมของโลก เรื่องเล่าขานและตำนานของมังกรปรากฏอยู่แทบทุกหนแห่ง เป็นที่รับรู้จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นจากวัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมญี่ปุ่น และตำนานในยุโรป แต่เราสามารถกล่าวได้ว่า ตำนานไวกิ้งในเรื่องมังกร ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเผยแพร่ไปในยุโรป เราจะเห็นได้จากลักษณะสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของชาวไวกิ้ง เช่น เรือ ที่มีลักษณะเป็นมังกร (ชาวไวกิ้งเป็นที่รู้จักในฐานะชนเผ่าที่มีความสามารถอันยอดเยี่ยมทั้งด้านการเดินเรือและการปกครอง ไวกิ้งเป็นหนึ่งในชนเผ่าอันน่าทึ่ง และเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในรอยเชื่อมต่อของประวัติศาสตร์ยุโรป รวมถึงผู้ชายร่างกำยำและสวมหมวกมีเขา ที่เราจะได้เห็นในเรื่อง) ทั้งเรื่องเล่าขานหรือนิทานของมังกรและอัศวินในสมัยกลางของยุโรป (หลังยุคไวกิ้ง) ตลอดจนเรื่องราวที่มีมังกรมาเกี่ยวข้อง ทั้งใน Game of Thrones, The Lord of the Rings, Sleeping Beauty และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนมาจากอิทธิพลของตำนานของไวกิ้งเรื่องมังกรที่ถูกส่งต่อไปยังวัฒนธรรมอื่นๆ (ตรงนี้ ไม่ขอนับทางฝั่งโลกตะวันออก)
How To Train Your Dragon พยายามที่จะสื่อมากว่า เรื่องราวในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวก่อนเรื่องราวและประวัติศาสตร์ทั้งหมดของชาวไวกิ้งที่เรารู้จัก ซึ่งนับว่า ภาพยนตร์พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และมังกรออกมาได้อย่างดีและเต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพระหว่างสองเผ่าพันธุ์ก่อนที่จะจากลา ปิดท้ายด้วยการจากไปของมังกรและการมีชีวิตต่อไปของชาวไวกิ้งไร้มังกร (เราจะเริ่มเห็นสิ่งก่อสร้างและเครื่องแต่งกายตามแบบของชาวไวกิ้งจริงๆ ในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งเป็นการจงใจจะสื่อถึงการเชื่อมโยงจินตนาการในภาพยนตร์และโลกจริง) ตลอดจนการกล่าวถึงความเชื่อในเรื่องของมังกรที่ถูกถ่ายทอดและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น (ฉากที่ฮิคคัพล่องเรือ เล่าเรื่องราวของมังกรให้กับลูกๆ ฟัง) จนถึงช่วงเวลาของเราในปัจจุบัน ที่ไม่หลงเหลือมังกรและหลักฐานเกี่ยวกับมันอยู่อีกเลย หลงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำของมนุษย์ที่กล่าวถึงเหล่ามังกรอยู่ในแต่ละวัฒนธรรม ซึ่งพูดได้เลยว่า How To Train Your Dragon จบเรื่องทั้งในเรื่องราวของตัวมันเองได้อย่างดี และยังปิดฉากตำนานของเหล่ามังกรที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของโลกเราได้อย่างงดงามและน่าประทับใจ
เรื่องราวที่สนุกสนานและการปิดฉากเรื่องที่น่าประทับใจของ How To Train Your Dragon: The Hidden World นำมาซึ่งความรู้สึกที่ดีสำหรับผู้ชมได้อย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องของมิตรภาพและครอบครัว แม้ว่าผู้เขียนจะรู้เศร้าใจเล็กๆ ที่ How To Train Your Dragon ภาคนี้เป็นภาคสุดท้าย แต่อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผู้เขียน จบแบบนี้ มันโอเคที่สุดแล้ว…..
“Once there were dragons.”
“ครั้งหนึ่ง มันเคยมีมังกรอยู่”
บทความโดย
ธนพนธ์ รงรอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น