5/3/54

กรีก (Greek)

        อารยธรรมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดของโลกทั้งอารยธรรมเมโสโปเตเมียและอารยธรรมอียิปต์ได้ชื่อว่าเป็นอารยธรรมแม่แบบ ซึ่งส่งผลสะท้อนทางด้านอิทธิพลให้แก่โลกซึ่งเจริญขึ้นในระยะต่อมา
        กรีกเป็นดินแดนแห่งหนึ่งในโลกยุคโบราณที่ได้รับผลสะท้อนอิทธิพลดังกล่าว กรีกตั้งอยู่ตรงปลายสุดของคาบสมุทรบอลข่านทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ตรงตำแหน่งที่มาบรรจบกันของทวีปยุโรปและแอฟริกาทำเลที่ตั้งจึงเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้กรีกโบราณรับอิทธิพลความเจริญโดยตรงจากทั้งอียิปต์และเมโสโปเตเมีย และด้วยอิทธิพลดังกล่าว ชาวกรีกโบราณพัฒนาอารยธรรมของตนขึ้นโดยผสมผสานให้เข้ากับลักษณะพิเศษเฉพาะของตนกลายเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอารยธรรมหนึ่งที่โลกปัจจุบันรู้จัก

        ชาวกรีกเป็นชาวอารยันหรือชาวอินโดยูโรเปียน เดินทางมาจากถิ่นเดิมซึ่งอยู่ทางเหนือ เมื่อประมาณ 2000ปิก่อนคริสตกาล ในขณะที่พวกหนึ่งเดินทางไปทางภาคตะวันออกมุ่งไปยังภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย พวกกรีกเดินทางมุ่งไปทางทิศตะวันตก ผ่านที่ราบอันกว้างใหญ่ทางตอนใต้ของรุสเซียลงสู่แหลมบอลข่าน และเข้าตั้งรกรากบริเวณคาบสมุทรที่ปัจจุบันเรียกว่า กริซ
        ชาวกรีกโบราณเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในค่าของมนุษย์ในฐานะปัจเจกชน และเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีเกียรติยศและควรแก่การยกย่องด้วยค่าของความเป็นมนุษย์ ในขณะที่บ้านเมืองทางตะวันออกขณะนั้นปกครองด้วยระบอบเอกาธิปไตยที่มีกษัตริย์หรือจักรพรรดิผู้ทรงอำนาจเด็ดขาด กรีกได้หล่อหลอมความเชื่อมั่นว่า มนุษย์จะต้องได้รับการยกย่องความสามารถด้วยตัวเขาเอง มิใช่ในฐานะที่เป็นกลไกของเจ้าเหนือหัวผู้ทรงอำนาจ
        กรีกแบ่งได้ 2 สมัย ได้แก่
    1. สมัยเฮลเลนิค(Hellenic Age) มีที่มาจากคำว่า เฮลลาส(Hellas) แปลว่า ชาวกรีก สมัยนี้ คือ สมัยที่กรีกมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเอเธนส์(Athens) ซึ่งเป็นเมื่องที่มีความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน
        อารยธรรมกรีกในสมัยนี้เจริญอยู่ในระยะเวลาประมาณ 600-338 ปีก่อนคริสตกาล โดยเริ่มตั้งแต่สมัยกรีกสร้างนครรัฐ
        ความเจริญรุ่งเรืองของนครรัฐเอเธนส์ในสมัยนี้ ได้แก่ ความสำเร็จทางด้านปรัชญา วิทยาศาสตร์ การเมือง การแพทย์ การละคร สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และศิลปะแขนงต่างๆ อารยธรรมดังกล่าวของเอเธนส์ได้เป็นมรดกทางด้านอารยธรรยให้แก่โลกในยุคต่อมา
Pelopponnesian Wars

        สมัยเฮลเลนิคต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากสงครามเพโลโพนีเซียน(Pelopponnesian Wars) เมื่อ 431 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อเอเธนส์ต้องการเป็นจักรวรรดิ ทำให้นครรัฐอื่นๆไม่พอใจ โดยเฉพาะคู่แข่งของเอเธนส์อย่างสปาร์ตา สงครามครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวกรีกอย่างมาก เอเธนส์ต้องยอมแพ้แก่สปาร์ตา เมื่อ 404 ก่อนคริสตกาลแต่สปาร์ตาก็ปกครองอยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดกรีกก็ตกอยู่ใต้อำนาจของนครรัฐมาซีโดเนียเมื่อ 338 ปีก่อนคริสตกาล
Acropolis

    2. สมัยเฮลเลนิสติค(Hellenistic Age)
        สมัยนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณ 338-133 ปีก่อนคริสตกาล สมัยนี้เริ่มต้นเมื่อกรีกตกอยู่ภายใต้อำนาจของนครรัฐมาซิโดเนียเมื่อ 338 ปีก่อนคริสตกาล
Alexander The Great

        นครรัฐมาซีโดเนียอยู่ทางเหนือของคาบสมุทรกรีก ประชาชนสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าอินโดยูโรเปียนที่แข็งแกร่ง มีเชื้อสายกรีก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์(Alexander The Great) โอรสของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ผู้ทรงพิชิตกรีกได้ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดาในการขยายอาณาเขตและแผ่ขยายอารยธรรมกรีกไปในดินแดนต่างๆ ทางตะวันออก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์สามารถพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซียเข้าครอบครองเอเซียไมเนอร์ ซีเรีย ปาเลสไตน์ และอียิปต์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้นจึงมุ่งหน้าเดินทัพไปทางตะวันออกจนถึงอินเดีย
        พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ทรงสถาปนานครใหม่ๆขึ้นหลายแห่ง ทรงสนับสนุนการค้าระหว่างกรีกและประเทศทางตะวันออก ส่งเสริมให้ชาวกรีกอพยพไปตั้งถิ่นฐานในนครที่ตั้งขึ้นใหม่ จาการผสมผสานอารยธรรมกรีกและตะวันออกเข้าด้วยกันนี้เองที่ทำให้อารยธรรมในสมัยนี้มีชื่อว่า อารยธรรมเฮลเลนิสติค นครที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ได้แก่ อเล็กซานเดีย(Alexandria) ในอียิปต์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายและศิลปวัฒนธรรมสมัยเฮลเลนิสติค
        สมัยนี้มีความเจริญในด้านต่างๆ เช่น ปรัชญา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรม โดยทั่วไปแล้วศิลปกรรมในสมัยนี้มักจะมีขนาดใหญ่ แสดงถึงชัยชนะ สร้างอย่างวิจิตรพิศดาร ปราศจากความพอเหมาะและความกลมกลืนอันเป็นคุณสมบัติของศิลปะในสมัยเฮลเลนิค นอกจากนี้ยังเป็นศิลปะเพื่อการค้า เช่น ประติมากรรมรูปคนครึ่งตัวซึ่งนิยมกันมากในสมัยนี้ นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้เน้นความชำนาญเฉพาะด้านและการทดลองให้เห็นผล นอกจากนี้ การผสมผสานความรู้ของกรีกกับตะวันออกยังได้ผลอย่างสูงในแขนงวิชาต่างๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ เป็นต้น

        สมัยเฮลเลนิสติคได้เริ่มต้นเมื่อกรีกตกอยู่ภายใต้อำนาจของนครรัฐมาซิโดเนีย และสิ้นสุดเมื่อโรมันเข้ายึดครองกรีกสำเร็จ
        ในด้านการเมืองการปกครองของกรีกโบราณนั้น จะเห็นได้ว่า ชาวกรีกโบราณมิได้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางการเมืองภายใต้อำนาจการปกครองเดียว อย่างเช่น อียิปต์ในสมัยโบราณ พวกกรีกแยกกันอยู่เป็นนครรัฐ
        นครรัฐ เป็นคำที่แปลมาจากคำกรีกว่า "โปลิส"(Polis) ซึ่งมีความหมายว่า "นคร" และ "รัฐ" ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะ "โปลิส" ของกรีกนั้นเป็นทั้งนครและรัฐเสร็จสิ้นอยู่ในตัว แตะละนครรัฐจะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน แม้แต่นครรัฐที่เป็นอาณานิคมเกิดขึ้นใหม่ก็เป็นอิสระไม่ขึ้นกับเมืองแม่ ตามความหมายของอาณานิคมที่เข้าใจในปัจจุบัน

อ้างอิง
  • มัลลิกา มัสอูดี และคณะ. อารยธรรมมนุษย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทธบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2548.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น