ธนพนธ์ รงรอง
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งอาณาจักรอยุธยาที่สำคัญพระองค์หนึ่ง เนื่องจากรัชสมัยของพระองค์นั้น อาจถือได้ว่า ช่วงเวลาก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์นั้น ราชสำนักอยุธยาอยู่ในช่วงเวลาแห่งการแย่งชิงราชสมบัติ นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ต่อมาก็เกิดกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์ ได้ราชสมบัติแก่ ขุนวรวงศาธิราช จนในที่สุด ราชสมบัติก็ตกสู่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระองค์ยังได้สถาปนาพระมหาธรรม-ราชา ให้ปกครองหัวเมืองเหนือ ซึ่งเท่ากับพระองค์ได้ทรงทำการสถาปนาราชวงศ์พระร่วงหรือสุโขทัยขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระองค์นั้น ยังเป็นช่วงเวลาแห่งสงครามระหว่างสยามกับพม่า อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาแห่งรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยต่อมาภูมิหลังของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีพระนามเดิม คือ พระเฑียรราชา ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 อันประสูติจากพระสนม และทรงเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช และในรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช อาณาจักรอยุธยามีความเข้มแข็งมาก ราชสำนักอยุธยาไร้ซึ่งความวุ่นวาย แต่เมื่อเกิดกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์ อีกทั้งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต ราชบัลลังก์อยุธยาจึงได้แก่ขุนวรวงศาธิราช ผู้อยู่นอกสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ ดังนั้น จึงเกิดความวุ่นวายในราชสำนักขึ้น พระเฑียรราชา ต้องเสด็จออกผนวช นัยว่าเพื่อหลบภัยการเมือง เนื่องจาก เวลานั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์กำลังมีอำนาจอย่างเต็มที่ และพระเฑียรราชา เป็นเชื้อพระวงศ์สุพรรณภูมิพระองค์หนึ่งที่มีสิทธิธรรมในราชบัลลังก์
การเสด็จขึ้นครองราชย์ในอาณาจักรอยุธยาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ขณะที่พระเฑียรราชา ทรงผนวชอยู่นั้น ใน พ.ศ.2091 ขุนพิเรนทรเทพ เชื้อสายราชวงศ์พระร่วงหรือสุโขทัย และพรรคพวก ได้ทำการกบฏ และสามารถกำจัดขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ลงได้ จากนั้นขุนพิเรนฯ จึงได้อัญเชิญพระเฑียรราชาให้ลาผนวชและขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา ในปี พ.ศ.2091 ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงแต่งตั้งขุนนางผู้มีความดีความชอบหลายคน โดยเฉพาะขุนพิเรนทรเทพ ถูกสถาปนาเป็น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ให้ปกครองเมืองพิษณุโลก อันเป็นราชธานีฝ่ายเหนือของอาณาจักรอยุธยา (อาณาจักรสุโขทัยเดิม) แล้วพระราชทานพระสวัสดิราช รั้งตำแหน่งพระวิสุทธิกษัตรีย์ ให้เป็นอัครมเหสีพระมหาธรรมราชา การสถาปนาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้ขุนพิเรนฯนี้ เปรียบดังการสถาปนาราชวงศ์พระร่วงให้กลับมามีอำนาจในหัวเมืองเหนือหรืออาณาจักรสุโขทัยเดิมอีกครั้ง เนื่องจากในรัชสมัยก่อนๆ (ตั้งแต่ที่สุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา) พระมหากษัตริย์อยุธยาจะทรงส่งเชื้อพระวงศ์ของตนเองเท่านั้นไปปกครองเมืองพิษณุโลก
สงครามระหว่างอยุธยากับหงสาวดี (สยามกับพม่า) ครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ กษัตริย์แห่งหงสาวดี สามารถรวมรวบอาณาจักรของพระองค์ให้เป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น โดยพระองค์สามารถยกทัพไปปราบปรามได้เมืองอังวะและหัวเมืองพม่า อีกทั้งยังได้เมืองไทยใหญ่ไว้ในอำนาจของหงสาวดีทั้งสิ้น ทางฝ่ายอยุธยา หลังรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เกิดความวุ่นวายในราชสำนักอยุธยา อีกทั้งพระมหาจักรพรรดิพึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ดังนั้น พระเจ้าตะเบงชเวตี้ จึงเห็นเป็นโอกาสยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา เพราะเมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว หงสาวดีกับอยุธยานั้น เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และมีความเข้มแข็งทัดเทียบกัน ซึ่งแข่งบารมีกันอยู่เนิ่นๆ อีกทั้งภายในอาณาจักรอยุธยา มีทรัพยากรของป่ามากมาย รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าว นอกจากนี้ กรุงศรีอยุธยา ยังเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญและรุ่งเรือง มีเรือชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายเสมอ อันเป็นคู่แข่งของเมืองท่าการค้าอย่าง เมืองหงสาวดี
ในปี พ.ศ.2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงครองราชย์ได้เพียงประมาณ 6-7 เดือน พระเจ้าตะเบงชเวตี้ ทรงยกทัพพม่าเข้ามาถึงชานพระนครทางทุ่งลุมพลี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงเสด็จยกทัพออกไปทำการรบกับทัพหน้าของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ คือ ทัพของพระเจ้าแปร แต่ยังรบกันไม่ถึงแพ้ชนะ กองทัพของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ถอยกลับเข้าพระนคร
กรุงศรีอยุธยานั้น ได้เปรียบข้าศึกในด้านภูมิศาสตร์ กล่าวคือ กรุงศรีอยุธยานั้นมีแม่น้ำล้อมรอบเมืองทุกด้าน ข้าศึกยากที่จะเข้าตีถึงตัวพระนคร อีกทั้งมีเรือรบสามารถออกไปโจมตีข้าศึกได้ และกรุงศรีอยุธยา ยังมีเสบียงอาหารบริบูรณ์ รวบรวมคนและเสบียงไว้ในพระนคร นอกจากนี้ เพียงแค่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาสามารถตั้งรับ รักษาเมืองไว้ได้จนถึงฤดูฝน อันเป็นฤดูที่น้ำท่วม ในแถบกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ข้าศึกก็จำเป็นต้องถอยทัพกลับ พระเจ้าตะเบงชเวตี้เองก็เช่นเดียวกัน ตั้งทัพล้อมพระนครอยู่นาน ไม่สามารถตีเมืองได้ เสบียงใกล้หมด อีกทั้งกองทัพของพระมหาธรรมราชาก็ยกมาช่วยตีกระหนาบกองทัพหงสาวดี พระเจ้าตะเบงชเวตี้ จึงถอยทัพกลับสู่หงสาวดี
การเสริมสร้างบ้านเมืองหลังสงครามพระเจ้าตะเบงชเวตี้ ในปี พ.ศ.2091
จากสงครามใน พ.ศ.2091 กรุงศรีอยุธยานั้น อยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัยนัก ดังนั้น ระหว่าง พ.ศ.2092 ถึง พ.ศ.2106 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ปรับปรุงกิจการทหาร และเสริมสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม ใช้ยุทธศาสตร์ในการป้องกัน คือ ใช้พระนครเป็นที่มั่น โดยเริ่มต้นจากการก่อกำแพงเมืองด้วยอิฐและปูนตามแบบตะวันตกรอบพระนครเป็นครั้งแรก พร้อมกับให้ขุดคลองมหานาคเป็นคูเมืองออกไปถึงชายทุ่งภูเขาทอง และด้านการทหารนั้น พระองค์โปรดให้ทำสำมะโนครัวใหม่ตามหัวเมืองชั้นในทุกหัวเมือง ทำให้ทราบจำนวนชายฉกรรจ์ที่สามารถทำการรบได้ ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ทรงตั้งเมืองใหม่ขึ้น 3 เมือง เพื่อเป็นที่รวมพลและง่ายต่อการเกณฑ์เข้าพระนคร อีกทั้งยังโปรดให้แปลงเรือแซง เป็นเรือชัย เป็นเรือที่มีปืนใหญ่ยิงได้ที่หัวเรือ นอกจากนี้ ยังทรงโปรดให้จับช้างเข้ามาใช้ในราชการ และทรงได้ช้างเผือกถึง 7 เชือก พระองค์จึงได้รับขนานพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือก อีกพระนามหนึ่ง
สงครามช้างเผือก พ.ศ.2106
(ที่มา: http://952502848579321446.weebly.com/362635913588361936343617359436573634359136483612363936293585.html) |
ดังนั้น พระเจ้าบุเรงนองจึงหาเหตุเข้าโจมตีอยุธยา และเนื่องจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงได้ช้างเผือกถึง 7 เชือกไว้ในครอบครอง (ช้างเผือกเป็นสิ่งมงคลของพระมหากษัตริย์จะให้แก่ผู้ใดมิได้) ช้างเผือกนี้เอง จึงกลายเป็นชนวนของสงครามครั้งใหม่ โดยพระเจ้าบุเรงนอง ทรงส่งสาสน์ขอช้างเผือก 2 เชือก ถ้าฝ่ายอยุธยาไม่ให้ คงเกิดสงครามเป็นแม่นมั่น แต่พระมหาจักรพรรดิก็ทรงปฏิเสธ ตามคำแนะนำของขุนนางบางกลุ่ม พระเจ้าบุเรงนองจึงตรัสว่า อยุธยาตัดไมตรีกับหงสาวดี และถือสาเหตุนี้ในการทำสงครามกับอยุธยา ดังนั้น เมื่อ พ.ศ.2106 พระเจ้าบุเรงนองนำทัพจากทุกหัวเมืองภายใต้อำนาจของพระองค์ เป็นกองทัพใหญ่กำลังพลกว่าแสน เข้ามาโจมตีอาณาจักรอยุธยา โดยในครั้งนี้ กองทัพฝ่ายหงสาวดี ได้เข้าตีทางหัวเมืองเหนือของอาณาจักรอยุธยาก่อน กองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกขึ้นมาช่วยไม่ทันการ ในที่สุด พระมหาธรรมราชา ผู้ปกครองเมืองพิษณุโลก บุตรเขยของสมเด็จพระมหา-จักรพรรดิ ก็ได้เข้าร่วมกับพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทรงปราบหัวเมืองได้ทั้งหมดแล้ว พระองค์จึงยกทัพเข้าล้อมตีกรุงศรีอยุธยา ทั้ง 2 ฝ่ายรบกันเป็นเวลานาน ไม่สามารถเอาชนะกันได้อย่างเด็ดขาด จนในที่สุดได้ทำการเจรจากัน โดยพระมหาจักรพรรดิได้อาณาเขตอาณาจักรและเชลยศึกคืน แต่ก็ทรงเสียช้างเผือก 4 เชือก รวมถึงพระราเมศวร อันเป็นพระราชโอรสองค์โต และพระยาจักรีและพระสุนทรสงคราม ให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับล้านช้าง ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
เมื่อสิ้นสุดสงครามช้างเผือก กองทัพพม่าถอยทัพกลับ แต่พระมหาธรรมราชาก็ทรงเริ่มเอาพระทัยออกห่างจากอยุธยา ไปเข้ากับหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ คงไม่สามารถควบคุมหัวเมืองเหนือได้โดยง่ายอีกต่อไป จากนั้น ใน พ.ศ.2106
พระไชยเชษฐา กษัตริย์แห่งล้านช้าง ทรงต้องการเป็นไมตรีกับอยุธยา จึงส่งทูตมาขอพระเทพกษัตรี อันเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ทรงรับไมตรี ขณะส่งพระเทพกษัตรีเดินทางไปสู่ล้านช้างนั้น ทหารฝ่ายหงสาวดีสามารถชิงตัวพระเทพกษัตรีไปได้ โดยพระมหาธรรมราชาเป็นผู้แจ้งข่าวนี้ ให้กับหงสาวดี แต่พระไชยเชษฐา ก็ยังทรงเป็นพันธมิตรกับอยุธยา อีกทั้งยังมีการทำสัญญาพันธมิตรระหว่างกษัตริย์ทั้งสอง ในจารึกพระธาตุศรีสองรัก เพื่อต้านอำนาจของพระเจ้าบุเรงนอง จากนั้น อาจเป็นด้วยความท้อแท้พระทัย พระมหาจักรพรรดิจึงทรงออกผนวช โดยมีข้าราชการจำนวนมากออกตามบวช และทรงให้พระมหินทร์ พระราชโอรสองค์รอง ปกครองบ้านเมือง พระมหินทร์ทรงว่าราชการแทน ทรงได้สมคบกับพระไชยเชษฐาไปตีเมืองพิษณุโลก จนเกิดเป็นรอยร้าวฉานระหว่างอยุธยากับพิษณุโลก จนในที่สุด พระมหินทร์ก็ต้องไปทูลเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้ลาผนวช กลับมาว่าราชการอยุธยาตามเดิม
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 สงครามครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ชนวนของสงครามครั้งนี้ คือ การที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระมหินทร์เสด็จไปเมืองพิษณุโลก ขณะที่พระ-มหาธรรมราชาเสด็จไปหงสาวดี นำพระวิสุทธิกษัตรีพร้อมด้วยพระเอกาทศรถมาประทับที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหาธรรมราชาทรงทราบเรื่อง พระมหาธรรมราชาจึงเข้ากับหงสาวดีอย่างเปิดเผย เป็นเหตุให้ใน พ.ศ.2111 พระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพใหญ่ มีกำลังพลราวๆห้าแสนคน เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่กองทัพหงสาวดีก็ไม่สามารถตีเอากรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย ขณะเดียวกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประชวรหนัก และทรงเสด็จสวรรคตไปขณะที่พม่าปิดล้อมเมือง พระมหินทร์ทรงขึ้นครองราชย์ต่อ อย่างไรก็ตาม พม่าก็ยังไม่สามารถตีเอาเมืองได้ อีกทั้งกองทัพล้านช้างได้ยกทัพมาช่วยกรุงศรีอยุธยา แต่เสียทีกองทัพพม่า จึงได้ถอยทัพกลับไป และในที่สุด ฝ่ายพม่าจึงใช้วิธีการไส้ศึกในเมืองเปิดประตูเมืองให้กองทัพพม่าเข้าเมืองได้ กรุงศรีอยุธยาจึงแตกเป็นครั้งแรก จากนั้น พระเจ้าบุเรงนองทรงสถาปนาให้พระมหาธรรมราชาแห่งราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองราชย์ในอาณาจักรอยุธยา (ภายใต้อำนาจของพระเจ้าบุเรงนอง) ส่วนพระมหินทร์ ทรงถูกนำตัวไปยังกรุงหงสาวดี ไม่นานก็เสด็จสวรรคต ซึ่งเป็นการปิดฉากราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ปกครองอยุธยามาอย่างยาวนาน โดยแทนที่ด้วยราชวงศ์พระร่วงหรือสุโขทัยนั้นเอง
สรุป
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีพระนามเดิมว่า พระเฑียรราชา ขึ้นเสวยราชย์ปกครองอาณาจักรอยุธยา ในปี พ.ศ.2091 หลังกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราช พระองค์ทรงได้ฟื้นฟูราชวงศ์พระร่วงหรือสุโขทัย ให้มีอำนาจเหนือหัวเมืองเหนืออีกครั้ง โดยทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพ ให้เป็นพระมหาธรรมราชา ปกครองเมืองพิษณุโลก ราชธานีฝ่ายเหนือ ในปีเดียวกัน พระเจ้าตะเบงชเวตี้แห่งหงสาวดี ทรงยกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สามารถตีได้ จนพม่าต้องถอนกองทัพกลับ จากนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงโปรดให้ปรับปรุงด้านการทหาร และการป้องกันเมืองให้เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม โดยโปรดให้ทำสำมะโนครัวใหม่ เพื่อจะได้ทราบจำนวนชายฉกรรจ์ที่จะสามารถทำการรบได้และได้พัฒนาเรือรบในการใช้ป้องกันเมือง นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สร้างกำแพงเมืองด้วยอิฐและปูนแบบตะวันตกเป็นครั้งแรก ทั้งยังโปรดให้ขุดคลองมหานาคเป็นคูเมืองออกไปถึงชายทุ่งภูเขาทอง สุดท้ายโปรดให้มีการออกจับช้างมาใช้ในราชการ และพระองค์ทรงได้ช้างเผือกกว่า 7 เชือก ซึ่งเป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์แห่งหงสาวดีต่อจากพระเจ้าตะเบงชเวตี้ ทรงได้อ้างการขอช้างเผือกเข้าตีอาณาจักรอยุธยาอีก โดยยกทัพใหญ่เข้าตีหัวเมืองเหนือของอยุธยาจนพระมหาธรรมราชายอมอ่อนน้อมกับพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทรงปราบหัวเมืองได้สิ้นแล้ว จึงทรงกรีฑาทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่ยังไม่ทันรู้ผลแพ้ชนะก็มีการเจรจาอย่าศึกกันเสียก่อน ภายหลังสงคราม ดูเหมือนกรุงศรีอยุธยานั้น โดดเดี่ยว เนื่องจากพระมหาธรรมราชา ผู้ปกครองหัวเมืองเหนือนั้น ได้เอาพระทัยออกห่าง ไปร่วมกับฝ่ายหงสาวดีเสียมากกว่า พระมหาจักรพรรดิจึงได้เป็นไมตรีกับพระไชย-เชษฐาแห่งล้านช้าง เพื่อจะได้ร่วมกันต้านอำนาจของหงสาวดี ดังนั้น พระมหินทร์ พระราชโอรสของสมเด็จพระมหา-จักรพรรดิ ทรงร่วมกับพระไชยเชษฐาหมายจะกำจัดพระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก แต่ไม่สำเร็จ อีกทั้ง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระมหินทร์ทรงเสด็จไปเอาตัวพระชายาและโอรสของพระมหาธรรมราชามาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา จนเป็นชนวนของสงครามครั้งใหม่ ที่พม่าและหัวเมืองเหนือทั้งหมดยกทัพใหญ่เข้าล้อมตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2111 ขณะที่กองทัพพม่าล้อมเมืองอยู่นั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เสด็จสวรรคต พระมหินทร์ ขึ้นครองราชย์ต่อ ซึ่งถึงแม้ว่ากองทัพล้านช้างจะยกเข้ามาช่วยกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาก็พ่ายแพ้ให้แก่พม่าในท้ายที่สุด ราชบัลลังก์อยุธยาได้แก่พระมหาธรรมราชาแห่งราชวงศ์พระร่วง จากนั้นอาณาจักรอยุธยาก็ตกเป็นประเทศราชของหงสาวดีต่อไปอีก 15 ปี จนเมื่อพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา คือ สมเด็จพระนเรศวรทรงได้ประกาศอิสรภาพ และทำสงครามกับหงสาวดีจนได้อิสรภาพอย่างแท้จริง
บรรณานุกรม
ประเภทหนังสือ- เกริกฤทธี ไทคูนธนภพ. สงครามช้างเผือก ไทยเสียกรุงครั้งที่ 1 เล่าเรื่องลำดับความตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีฯ. กรุงเทพฯ: สยามความรู้, 2554.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486. ไทยรบพม่า เล่ม 1. กรุงเทพฯ: วิสดอม, 2553.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2542.
- “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3. กรกฎาคม – กันยายน 2555.
- วิกิพีเดีย. “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ”. ค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555. เว็บไซต์: http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น