11/12/56

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เสาวนีย์ ลุนบุดดา

        เชื่อว่าหลายคนคงเคยไปเยือนยังสถานที่แห่งนี้มาแล้ว แต่บางคนอาจยังไม่ทราบประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ ดังนั้นเรามาทราบข้อมูลคร่าวๆ ของสถานที่แห่งนี้กันก่อนดีกว่า ปราสาทหินพนมรุ้ง  เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นบนยอดภูเขาไฟที่ปัจจุบันดับสนิทแล้ว และอยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดบุรีรัมย์ในปัจจุบัน ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทว สถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ (ภาษาเขมร) และคำว่าพนมรุ้งนี้ไม่ได้ใช้เรียกแค่ตัวปราสาทเท่านั้นแต่ยังรวมถึงพื้นที่บริเวณภูเขาที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาทด้วย สิ่งก่อสร้างภายในบริเวณปราสาทถูกสร้างขึ้นในสมัยที่ต่างกัน โดยสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 ตามหลักฐานที่พบเชื่อว่าปราสาทหินพนมรุ้งแห่งนี้ได้เริ่มสร้างตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 15



        ภาพนี้คือภาพทางดำเนินสู่บันไดทางขึ้นปราสาท พื้นของทางเดินนั้นทำจากศิลาแลง  ทางดำเนินมีความยาวประมาณ 160 เมตร และจะมีเสานางเรียง เสาหินตั้งที่มียอดคล้ายกับดอกบัวตูมประดับอยู่สองข้างทาง  ซึ่งเสานางเรียงนี้จะทำจากหินทราย


        นี่คือด้านหน้าของปราสาทหินพนมรุ้ง บริเวณนี้จะมีบ่อน้ำทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ อยู่ 4 บ่อ สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดทางเข้าตัดกัน นั่นคือจะทำให้มีทางเดิน 4 ทางนั่นเอง ปัจจุบันในบ่อนี้จะปลูกบัวไว้เพื่อความสวยงาม


        อีกภาพสำหรับด้านหน้าของตัวปราสาท ลืมบอกไปว่าปราสาทหินพนมรุ้งนั้นด้านทางเข้าจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองนั่นเอง


        ภาพนี้เป็นภาพของประตูที่มีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ถูกขโมยไป หลังจากนั้นได้ปรากฏขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไทยเราจึงทำการเรียกร้องขอคืนและได้คืนกลับมาในที่สุด นี่ถือเป็นทับหลังที่มีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาทับหลังของปราสาทในประเทศไทยเลยก็ว่าได้


        ส่งท้ายด้วยภาพดวกบัวสีขาวในบ่อน้ำน้อยด้านหน้าของตัวปราสาทหินพนมรุ้ง ดอกบัวในบ่อน้ำน้อยนี้นอกจากจะสวยงามแล้วยังทำให้ผู้พบเห็นเกิดความสดชื่น สบายตา ด้วยดอกสีขาวสะอาดและใบสีเขียวสด ช่างทำให้ผู้ที่เหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางมาไกล  และเจอกับสภาพอากาศร้อนๆ ของเมืองไทยเรา ได้ผ่อนคลายได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว


อ้างอิง
  • กรมศิลปากร. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 5. บุรีรัมย์: โรงพิมพ์วินัย, 2548.
  • วิกิพีเดีย, สารานุกรมเสรี. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง. ค้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556. เว็บไซต์: http://th.wikipedia.org/wiki/อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง.

(ติดต่อจ้างเขียนบทความได้ที่ Nap Hourglass)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น