22/4/54

จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)

ธนพนธ์ รงรอง


จูเลียส ซีซาร์
        นับตั้งแต่เริ่มแรกของการสถาปนาสาธารณรัฐโรมัน (509 ปีก่อนคริสตกาล) จนถึงการก่อตั้งจักรวรรดิโรมัน (29 ปีก่อนคริสตกาล) โรมันได้ขยายอำนาจและอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ เหนือคาบสมุทรอิตาลี ซิซิลี่ แอฟริกาเหนือ สเปน และจักรวรรดิเฮลเลนิสติก ดังนั้น ดินแดนรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของโรม
        สาธารณรัฐโรมัน ถือการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย แต่เมื่อช่วง 107 – 29 ปีก่อนคริสตกาล สาธารณรัฐโรมันเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหาร โดยมีขุนพล (ซึ่งมักได้รับตำแหน่งกงสุล) เป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวเหนือสภาซีเนทแห่งโรม อันนำมาซึ่งสงครามกลางเมืองระหว่างผู้ที่จะขึ้นเป็นใหญ่และมีอำนาจสูงสุด เช่น กรณีของแมริอัสและซัลล่า ซึ่งซัลล่าเป็นผู้ได้ชัยชนะ เขาดำรงตำแหน่งกงสุลจนปี 79 ก่อนคริสตกาลและเสียชีวิตลง ซึ่งหลังการตายของซัลล่า บุคคลสำคัญผู้หนึ่งได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการเมืองของโรมัน คือ จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งจะได้กล่าวในเนื้อหาต่อไปนี้

จูเลียส ซีซาร์ (ที่มา: http://withtheoldboy.blogspot.com/2011/04/julius-caesar.html)
        จูเลียส ซีซาร์ (100 – 44 ปีก่อนคริสตกาล) เกิดในตระกูลผู้ดี เป็นนักการเมือง และนักการทหารที่ชาญฉลาด และเขายังเคยเป็นผู้สนับสนุนแมริอัส ในสมัยการปกครองของซัลล่า เขาต้องเนรเทศตนเองจากโรมไปพักพิงที่เกาะโรดส์ เพราะพฤติกรรมทางการเมืองของเขาไม่เป็นที่พอใจของซัลล่า เมื่อซัลล่าเสียชีวิตลงเขาจึงได้กลับมายังโรมและพยายามสร้างชื่อเสียงทางการเมือง ซีซาร์ได้รับความนิยมจากผู้คนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเขาเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ทางการเมืองได้อย่างไพเราะ
        ซีซาร์ ได้ร่วมมือทางด้านการเมืองกับปอมปีย์และแครสซัส กงสุลทั้ง 2 แห่งโรม เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เรียกกันภายหลังว่า คณะสามผู้นำครั้งที่ 1 ต่อมาในปี 59 ก่อนคริสตกาล ซีซาร์ได้เป็นกงสุลร่วมกับปอมปีย์ ต่อมาในปี 58 ก่อนคริสตกาล ซีซาร์ได้รับหน้าที่ให้ไปปกครองแคว้นกอล อันมีชนเผ่าต่างๆอยู่ ระหว่างการปกครองแคว้นกอลของซีซาร์ เขาได้ทำสงครามในแคว้นกอลกับเผ่าต่างๆ ได้รับชัยชนะอยู่เสมอ จนสามารถผนวกแคว้นกอลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรมได้ ดังนั้น เขาจึงได้ความนิยมชมชอบจากชาวโรมอย่างมาก ซึ่งซีซาร์ได้บรรยายผลงานของเขาในหนังสือที่ชื่อ Commentaries on the Gullic War อีกทั้งในระหว่าง 55 – 56 ปีก่อนคริสตกาล ซีซาร์ยังได้ยกทัพข้ามไปยังเกาะอังกฤษเป็นครั้งแรก เพื่อลงโทษชาวอังกฤษที่ช่วยเหลือกอล แต่ประสบความล้มเหลวในการยกพลขึ้นบกยังเกาะอังกฤษถึง 2 ครั้ง เนื่องจากเกิดพายุ ต่อมาในปี 53 ก่อนคริสตกาล แครสซัสทำสงครามกับจักรวรรดิพาร์เทีย เสียชีวิตลงในระหว่างการรบ ซึ่งทำให้การตกลงของผู้นำทั้งสามสิ้นสุดลงด้วย ซีซาร์จึงกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองของปอมปีย์ในขณะนั้น จากนั้น ระหว่างปี 52 – 49 ก่อนคริสตกาล ปอมปีย์ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อปลดซีซาร์ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทัพในกอล ดังนั้น ซีซาร์ จึงเดินทัพมายังกรุงโรม และสามารถยึดเมืองได้สำเร็จ ปอมปีย์และเหล่าสมาชิกสภาซีเนทเกือบทั้งหมดหนีจากโรมไปยังกรีซ ซีซาร์นำกองทัพไปทำลายกองทัพของปอมปีย์ในสเปนได้สำเร็จ และยกทัพตามปอมปีย์ไปยังกรีซ  เขาสามารถทำลายกองทัพของปอมปีย์ลงได้สำเร็จ ปอมปีย์จึงหนีไปยังอียิปต์ และถูกสังหารโดยกลุ่มผู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองในอียิปต์ ซีซาร์เดินทางตามไปยังอียิปต์ และอยู่ที่อียิปต์อีก 3 ปี เพื่อจัดการความไม่สงบในอียิปต์และกวาดล้างผู้สนับสนุนปอมปีย์ในสเปนและแอฟริกา อีกทั้งซีซาร์ยังช่วยให้พระนางคลีโอพัตราครอบครองอียิปต์ ต่อมา ดินแดนในตะวันออกใกล้ทั้งหมดเข้าสู่ความสงบภายในปี 47 ก่อนคริสตกาล และกองทัพของปอมปีย์ถูกทำลายลงทั้งหมดในปี 45 ก่อนคริสตกาล

ปอมปีย์ (ที่มา: http://withtheoldboy.blogspot.com/2011/04/julius-caesar.html)
        ดังนั้น ใน 44 ปีก่อนคริสตกาล ซีซาร์จึงกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือโรมเพียงผู้เดียว เปรียบได้ดังกษัตริย์ ซึ่งซีซาร์เป็นที่นิยมของประชาชนในโรม แต่กลุ่มสมาชิกสภาซีเนทกลับไม่พอใจในการใช้อำนาจและตำแหน่งของเขา เนื่องจากตำแหน่งและการปกครองของซีซาร์นั้น เท่ากับการล้มระบอบสาธารณรัฐและสร้างระบบเผด็จการทหารขึ้นมาแทน ดังนั้น ในวันที่ 15 มีนาคม 44 ปีก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์เสียชีวิตลง โดยเขาถูกรุมสังหารในสภาซีเนทด้วยมีดสั้นของกลุ่มสมาชิกสภาที่ไม่พอใจซีซาร์ นำโดยบรูตัส ซึ่งความไม่พอใจส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะซีซาร์ คือ ผู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโรม ทำให้สมาชิกสภากลุ่มหนึ่งเกรงว่าสาธารณรัฐจะล่มสลายหากอำนาจตกอยู่ในมือของบุคคลเพียงคนเดียว
จูเลียส ซีซาร์ ในการออกรบ
         แม้ว่าการปกครองของซีซาร์จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เขาก็ได้พยายามแก้ปัญหาคนจนและสร้างความเป็นอยู่ดีกินดีแก่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการจัดสรรที่ทำกินให้แก่ประชาชนและทหารผ่านศึก อีกทั้ง เขาได้พยายามจัดระบบการปกครองท้องถิ่นต่างๆในอิตาลี รวมทั้งในกรุงโรม ให้เป็นระบบและอยู่ในรูปแบบเดียวกัน อันจะเป็นมาตรฐานการปกครองท้องถิ่นของโลกตะวันตกในยุคสมัยต่อมา นอกจากนี้ ซีซาร์ได้ขยายสิทธิพลเมืองโรมันแก่ชนในเมืองต่างๆอย่างกว้างขวาง เพื่อลดความแตกต่างระหว่างชาวโรมและคนในเมืองอื่นๆ
จูเลียส ซีซาร์ ถูกรุมสังหารในสภาซีเนท ใน 44 ปีก่อนคริสตกาล (ที่มา: http://withtheoldboy.blogspot.com/2011/04/julius-caesar.html)
        สรุปแล้ว ถึงแม้จูเลียส ซีซาร์ อาจถูกสมาชิกสภาซีเนทมองว่าเป็นทรราชย์หรือจอมเผด็จการ แต่ซีซาร์ก็ได้นำความยิ่งใหญ่ รุ่งโรจน์ และรุ่งเรืองมาสู่โรมด้วยเช่นกัน คือ เขาสามารถผนวกแคว้นกอลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรมได้ ทั้งยังได้ทาสและทรัพย์สมบัติมากมายกลับมาสู่โรม และเขาอาจเป็นผู้ที่ทำให้ชาวโรมได้รู้จักกับเกาะอังกฤษเป็นครั้งแรกจากการเดินทัพไปยังเกาะอังกฤษของเขา อีกทั้งผลงานการบรรยายสงครามในแคว้นกอลของซีซาร์ ยังนับเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่งที่ใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์โรมันสำหรับคนรุ่นหลังอีกด้วย นอกจากนี้ ซีซาร์ยังได้แก้ปัญหาคนจนให้มีที่อยู่ที่ดีขึ้นและพัฒนาการปกครองท้องถิ่นให้เป็นระบบเดียวกัน ทั้งยังให้สิทธิพลเมืองในเมืองต่างๆเพื่อให้เสมอเหมือนกับชาวโรม
จักรพรรดิออกุสตุส
        อย่างไรก็ตาม แม้ จูเลียส ซีซาร์ จะถูกสังหารโดยสมาชิกสภาซีเนทกลุ่มหนึ่ง เมื่อ 44 ปีก่อนคริสตกาล ออคตาเวียน หลานชายของซีซาร์ ที่ซีซาร์รับเป็นบุตรบุญธรรม ได้มีอำนาจในทางการเมืองสูงสุดเหนือสภาซีเนทแห่งโรมเช่นเดียวกับซีซาร์ เนื่องจากใน 31 ปีก่อนคริสตกาล ออคตาเวียนสามารถผนวกอียิปต์เข้ากับโรมัน ทำให้โรมกลายเป็นเจ้าแห่งเมดิเตอร์เรเนียน และกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างมาร์ก แอนโทนี ลงได้ ซึ่งทำให้เวลาต่อมาในปี 27 ก่อนคริสตกาล เขาได้รับตำแหน่ง ออกัสตัส ที่หมายถึง สูงส่ง หรือ เป็นที่เคารพ อันถือเป็นเวลาของการเริ่มต้นของจักรวรรดิโรมันที่มีจักรพรรดิองค์แรก คือ ออกัสตัส ซีซาร์ ปกครอง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจนับได้ว่า จูเลียส ซีซาร์ เป็นผู้ที่ปูเส้นทางสู่ระบอบจักรวรรดิไว้ให้ รวมถึงการที่จูเลียส ซีซาร์ได้เคยเข้าไปสร้างอิทธิพลของโรมในอียิปต์อยู่ก่อนที่ออคตาเวียนจะสามารถผลวกเข้ากับโรม นอกจากนี้ จักรพรรดิแห่งโรมันหลายๆพระองค์ในช่วงสมัยจักรวรรดิก็ได้ใช้ชื่อ “ซีซาร์” เป็นชื่อตำแหน่งอันทรงเกียรติเพื่อสื่อว่าทรงพระปรีชาเช่นเดียวกับจูเลียส ซีซาร์

บรรณานุกรม

  • มัทนา เกษกมล. ประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตกยุคโบราณ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538. 
  • เทย์เลอร์, แอนดรูว์. ย้อนรอยจักรวรรดิมหาอำนาจ / แอนดรูว์ เทย์เลอร์: เขียน; ศรรวริศา เมฆไพบูลย์: แปลจาก The Rise and Fall of the Great Empires. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2553. 
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์, 2525. 
  • Wikipedia. Julius Caesar. ค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555. เว็บไซต์: http://en.wikipedia.org/wiki/Julius_Caesar.

1 ความคิดเห็น: