ธนพนธ์ รงรอง
เมื่อกล่าวถึงสงครามครั้งสำคัญในยุโรปสมัยกลาง คงจะหนีไม่พ้น สงครามครูเสด อันเป็นสงครามศาสนาครั้งใหญ่ระหว่างชาวคริสต์และมุสลิม ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะเมืองเยรูซาเล็ม เหตุการณ์ดังกล่าว ได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่แห่งปี ค.ศ.2005 อย่าง “Kingdom of Heaven” (แปลเป็นภาษาไทยว่า “อาณาจักรแห่งสวรรค์”) กำกับการสร้างโดย Ridley Scott อันเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ในสมัยพระเจ้าบอลด์วินที่ 4 แห่งเยรูซาเล็ม จนถึงการเสียเมืองเยรูซาเล็มของชาวคริสต์ในปี ค.ศ.1187
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ก่อนสมัยพระเจ้าบอลด์วินที่ 4 แห่งเยรูซาเล็ม
เมืองเยรูซาเล็ม ตั้งอยู่ในเอเชียไมเนอร์ อีกทั้งเป็นเมืองสำคัญของทั้งศาสนายูดาห์, คริสต์ และอิสลาม ซึ่งเดิมทีเมืองแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ต่อมาเมื่อกองทหารของไบ-แซนไทน์พ่ายแพ้ให้แก่กองทัพเซลจูกเติร์ก (นับถือศาสนาอิสลาม) จักรวรรดิไบแซนไทน์จึงเสียเมืองเยรูซาเล็มในปี ค.ศ.1071 และชาวมุสลิมได้ปิดกั้นการแสวงบุญของชาวคริสต์ในเมืองแห่งนี้ หลังจากนั้นไม่กี่ปีต่อมา ภายใต้การขอความช่วยเหลือของจักรพรรดิอเล็กซิสที่ 1 แห่งไบแซนไทน์ต่อ สันตะปาปาเออร์บัน ที่ 2 แห่งโรม สงครามครูเสดก็เริ่มขึ้น เมื่อกองทัพคริสเตียนจากยุโรปมากมายเดินทางสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์และทำสงครามกับมุสลิม จนสามารถยึดเมืองเยรูซาเล็มจากมุสลิมได้ใน ค.ศ.1099 ก่อตั้งเป็นราชอาณาจักรแห่งเยรูซาเล็ม (The Kingdom of Jerusalem) โดยพระเจ้าบอลด์วินที่ 1 ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ และสืบราชบัลลังก์เป็นลำดับ โดยพระเจ้าบอลด์วินที่ 2 และ 3 ตามลำดับ จนถึงสมัยพระเจ้าบอลด์วินที่ 4 อันเป็นรัชสมัยที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Kingdom of Heaven
เนื้อเรื่องในภาพยนตร์ Kingdom
of Heaven
“เกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้วที่กองทัพคริสเตียนจากยุโรปยึดครองเยรูซาเล็ม
ชาวยุโรปทุกคนที่ทนทุกข์จากการกดขี่และความแล้งแค้น ทั้งชาวบ้านและขุนนางต่างหนีสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสวงหาโชคลาภหรือทางรอดจากบาป… อัศวินผู้หนึ่งหวนคืนบ้านเพื่อตามหาบุตรชาย”
ข้อความในตอนต้นเรื่องของภาพยนตร์ Kingdom of Heaven
เมื่อก็อดฟรีย์แห่งอิบิลีน นักรบครูเสดจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เดินทางมาถึงฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1184 เพื่อตามหาบุตรชาย คือ เบเลี่ยน (Balian) ช่างตีเหล็กคนหนึ่งในฝรั่งเศสที่สูญเสียครอบครัวและเขาแทบไม่มีศรัทธาในพระเจ้า เบเลี่ยนจำต้องติดตามผู้เป็นพ่อไปยังเมืองเยรูซาเล็ม ระหว่างทางเกิดการต่อสู้ ก็อดฟรีย์บาดเจ็บสาหัส ก่อนที่ก็อดฟรีย์จะเสียชีวิต เขาได้แต่งตั้งให้เบเลี่ยนเป็นอัศวินและสืบทอดตำแหน่งของเขาในฐานะผู้ปกครองเมืองอิบิลีนในราชอาณาจักรแห่งเยรูซาเล็ม และยังสั่งเสีย ให้บุตรชายของตน ทำหน้าที่ให้ดี จงรักภักดีต่อกษัตริย์ ปกป้องผู้อ่อนแอ และจงพยายามเป็นมิตรกับมุสลิม เพื่อให้สงครามครูเสดที่ต่างฝ่ายก็อ้างว่าตนต่อสู้ตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสิ้นสุดลงเสีย จากนั้น เบเลี่ยนจึงเดินทางสู่เมืองเยรูซาเล็มอย่างปลอดภัย อันเป็นรัชสมัยของกษัตริย์บอลด์วินที่ 4 แห่งเยรูซาเล็ม ผู้ซึ่งทรงรักษาสันติกับมุสลิมอันมีผู้นำที่เก่งกาจโดย ซาลาดิน (Saladin) หากแต่พระองค์ทรงเป็นโรคเรื้อน เป็นเหตุให้พระองค์ไม่สามารถบริหารราชการได้ดังพระประสงค์นัก
เบเลี่ยนได้ทำหน้าที่ปกครองอิบิลีนต่อจากบิดาของเขา และเขายังร่วมมือกับพระเจ้าบอลด์วินที่ 4 และไทบิเรียส ขุนนางผู้ชาญฉลาด ในการรักษาสันติกับชาวมุสลิม พวกเขาเป็นชาวคริสต์กลุ่มน้อยที่เชื่อในวิธีการรักษาสันติเพื่อการดำรงอยู่ของอาณาจักรแห่งนี้ ต่างจากพวกครูเสดส่วนใหญ่ที่ต้องการทำสงครามกับชาวมุสลิมอยู่เสมอ โดยเฉพาะขุนนางอย่าง เรย์นาลด์ เดอ ชาติลยง และ กี เดอ ลูซินยง พระสวามีของซิบิลล่า ไม่นานนัก พวกเขาก็นำทหารครูเสดเข้าสังหารหมู่กองคาราวานชาวมุสลิมกว่าหกพันคน โดยมิได้สนใจในสัญญาสันติภาพของพระเจ้าบอลด์วินกับซาลาดิน
ในที่สุด สันติอันเปราะบางระหว่างคริสต์และอิสลามได้แตกสลายลงเมื่อพระเจ้าบอลด์วินที่ 4 สวรรคต และ กี เดอ ลูซินยง ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นกับชาวมุสลิมอีกครั้ง โดยเฉพาะการสังหารน้องสาวและทูตของซาลาดิน จนนำอาณาจักรเข้าสู่สงคราม กองทัพครูเสด (ยกเว้นเบลี่ยนและไทบีเรียส พร้อมกำลังคนของพวกเขา) จากราชอาณาจักรแห่งเยรูซาเล็ม เดินทางข้ามทะเลทราย ไร้ซึ่งแหล่งน้ำ (กองทัพเยรูซาเล็มอ่อนแอลงอย่างมาก) เพื่อไปรบกับกองทัพมุสลิมที่เข้มแข็ง อันมีกำลังพลกว่าสองแสนคน นำโดยซาลาดิน และได้ทำการรบกันที่สมรภูมิแฮตติน ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1187 ผลคือ กองทัพคริสเตียนพ่ายแพ้ เรย์นาลด์ ถูกสังหาร และ กี กษัตริย์แห่งเยรูซาเล็มทรงถูกจับได้ จากความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิแฮตติน ทำให้ราชอาณาจักรแห่งเยรูซาเล็ม ขาดกำลังพลที่จะปกป้องอาณาจักร ซาลาดินสามารถยึดเมืองในอาณาจักรแห่งนี้ได้หลายเมืองในเวลาเพียงสามเดือน ขณะที่ซาลาดินเดินทัพมายังเมืองเยรูซาเล็มนั้น ในเมืองเยรูซาเล็มมีทหารเพียงราว ๆ หกหมื่นคน และยังอยู่ในภาวะขาดผู้นำและไม่มีกษัตริย์ ไทบีเรียสจึงสิ้นหวังในการปกป้องอาณาจักรแห่งนี้และเดินทางจากไปยังไซปรัส แต่ด้วยความซื่อสัตย์ต่อกฎของอัศวิน เบเลี่ยน จึงรับหน้าที่ปกป้องเมืองด้วยตนเอง เขาได้ใช้ทักษะความเป็นผู้นำและวิศวกร รวมใจผู้คนที่อยู่ในภาวะแห่งความหวาดกลัวให้ช่วยกันปกป้องเมืองเพื่อชีวิตของพวกเขาและทุกชีวิตในเมือง และเขายังได้แปลงเมืองให้เป็นป้อมปราการเพื่อตั้งมั่นรับศึกภายในกำแพงเมือง อย่างไรก็ตาม เขารู้ดีว่า การรบที่จะมาถึงครั้งนี้ เยรูซาเล็มไม่อาจมีชัยเหนือกองทัพมุสลิมอันมีกำลังพลเหนือกว่าอย่างมหาศาลได้ เมื่อซาลาดินและกองทัพมุสลิมมาถึง การโจมตีเมืองก็เริ่มขึ้น เบเลี่ยนสามารถบัญชาการรบป้องกันเมืองได้อย่างเข้มแข็ง กองทัพมุสลิมล้มตายอย่างมาก อีกทั้งหอโจมตีเมืองของกองทัพมุสลิมก็ถูกทำลายจนหมด ดังนั้น การยึดเมืองเยรูซาเล็มของซาลาดินจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก จนเมื่อแม้แต่กำแพงเมืองส่วนหนึ่งทลายลง กองทัพ คริสเตียนก็ยังสามารถต่อสู้ต้านทัพของซาลาดินไว้ได้ จนในที่สุด ซาลาดินจึงขอเจรจากับเบเลี่ยน ได้ผลสรุป คือ เมืองเยรูซาเล็มตกเป็นของชาวมุสลิม ชาวคริสต์ทุกคนในเมืองจะไม่ถูกสังหารและจะถูกอารักขาไปยังทะเล ให้เดินทางกลับไปยังดินแดนตะวันตกของชาวคริสเตียนเอง นอกจากนี้ ทั้งซาลาดินและเบเลี่ยนต่างก็ให้ความนับถือและยกย่องในตัวของกันและกัน แม้ว่าทั้งสองจะศรัทธาในศาสนาที่แตกต่างกันก็ตาม
เมื่อเมืองเยรูซาเล็มเสียแก่ซาลาดินใน ค.ศ.1187 หลังสงคราม เบเลี่ยน กลับสู่ฝรั่งเศสพร้อมกับ ซิบิล่า ผู้ซึ่งสละตำแหน่งราชินีของราชอาณาจักรแห่งเยรูซาเล็ม และในตอนท้ายของภาพยนตร์ พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ ผู้ทรงสมัญญานามว่า พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionheart ) กำลังเดินทางไปดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพื่อกู้คืนอาณาจักรเยรูซาเล็ม และกำลังตามหาเบเลี่ยน ผู้ซึ่งเคยปกป้องเมืองเยรูซาเล็ม หากแต่เบเลี่ยนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมสงครามในดินแดนศักดิ์สิทธิ์อีก เพราะเขาได้เห็นผู้นำมากมายที่ต้องการอำนาจมากขึ้น เพียงแค่อ้างความศรัทธาในพระเจ้าและศาสนา สร้างปัญหาและความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ จนนำผู้คนนับไม่ถ้วน ไปล้มตายเพื่อพื้นที่และอาณาจักรเยรูซาเล็ม
สรุป
จากเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ดังกล่าว Kingdom of Heaven จึงเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่สร้างจากประวัติของอัศวินอย่างเบเลี่ยนและบุคคลสำคัญคนอื่น ๆ เช่น พระเจ้าบอลด์วินที่ 4 และซาลาดิน เป็นต้น อันเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนสภาพสังคมยุโรปและสังคมแถบเอเชียไมเนอร์ในสมัยกลางได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือ ภาพยนตร์ได้สะท้อนความศรัทธาในพระเจ้าของทั้งชาวคริสต์และมุสลิม อันนำมาสู่สงครามในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และคุณธรรมของอัศวินหรือที่เรียกว่า ธรรมะอัศวิน อีกทั้ง ภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่า สงครามครูเสดไม่ใช่เพียงการต่อสู้อันเนื่องมาจากความศรัทธาในศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้เพื่ออำนาจและพื้นที่ อันเป็นเหตุผลทางการเมือง ซึ่งมักอ้างความศรัทธาในศาสนาในการทำสงครามต่าง ๆ ระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมว่าเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า นอกจากนี้ ในภาพยนตร์ยังปรากฏแนวคิดของสันติในการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวคริสต์และมุสลิม ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าบอลด์วินที่ 4 อันเป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่างช่วงสงครามครูเสด และต่างฝ่ายต่างยกย่องในความสามารถของกันและกัน อันถือว่าเป็นความฉลาดอย่างหนึ่งท่ามกลางห้วงเวลาแห่งสงคราม อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยพระเจ้าบอลด์วินที่ 4 สงครามก็เกิดขึ้นอีก ผลที่เกิดขึ้น คือ ชาวคริสต์พ่ายแพ้ สูญเสียเมืองเยรูซาเล็มแก่ซาลาดิน สงครามทำให้ชาวคริสต์และมุสลิมล้มตายกันอย่างมหาศาล จากนั้น พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์แห่งอังกฤษเดินทางมาทำสงครามศาสนาในดินแดนศักดิ์สิทธิ์อยู่หลายปี และจบลงด้วยการสงบศึกกับซาลาดิน แต่สงครามครูเสดก็ยังคงดำเนินต่อไปอีก และอีกกว่าหลายศตวรรษต่อมา สันติในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ยังคงยากที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น เยรูซาเล็มคืออาณาจักรแห่งสวรรค์จริงหรือไม่ หรืออาจเป็นนรกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงคราม เนื่องจากมีผู้คนล้มตายอย่างมหาศาล เพื่อดินแดนแห่งนี้อย่างต่อเนื่องในหลายสงครามที่ผ่านเลย โดยอ้างความศรัทธาในศาสนาของตน…
บรรณานุกรม
- อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2553.
- คอสมอส. บันทึกโลกฉบับรวมเล่ม 1-2. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊ค, 2552.
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. อารยธรรมมนุษย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2548.
- วิกิพีเดีย. “สงครามครูเสด”. ค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 เว็บไซต์: http://th.wikipedia.org/สงครามครูเสด.
- Wikipedia. “Baldwin V of Jerusalem”. ค้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 เว็บไซต์: http://en.wikipedia.org/wiki/Baldwin_V_of_Jerusalem.
- Wikipedia. “Balian of Ibelin”. ค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 เว็บไซต์: http://en.wikipedia.org/wiki/Balian_of_Ibelin.
- Wikipedia. “King of Jerusalem”. ค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 เว็บไซต์: http://en.wikipedia.org/wiki/King_of_Jerusalem.
- Wikipedia. “Kingdom of Heaven (film)”. ค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 เว็บไซต์: http://en.wikipedia.org/wiki/Kingdom_of_Heaven_(film).
- Wikipedia. “The Kingdom of Jerusalem”. ค้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 เว็บไซต์: http://en.wikipedia.org/wiki/Kingdom_of_Jerusalem.
หนังเรื่องนี้ภาพสวยมาก
ตอบลบภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์สมัยกลางของยุโรปในช่วงสงครามครูเสดได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว
ตอบลบ